วัณโรค (Tuberculosis)

Last updated: 7 ธ.ค. 2562  |  11248 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วัณโรค (Tuberculosis)

          ในปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มมากขึ้น โดยองค์การอนามัยโลก(WHO)ได้ระบุว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 14 ของโลก ที่มีปัญหาวัณโรคสูงสุด ดังนั้นประชาชนควรมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเพื่อลดอัตราการป่วยเป็นวัณโรค

          วัณโรค คือ โรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Mycobacterium)  ซึ่งสามารถติดต่อกันผ่านทางอากาศได้ ด้วยการหายใจ การจาม การไอ หรือการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งวัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง


อาการของวัณโรค

จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ 

  1. ระยะแฝง (latent TB) ในระยะแฝง เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะไม่มีอาการใด ๆ เนื่องจากเชื้อยังไม่ได้รับการกระตุ้น แต่มีเชื้อแบคทีเรียอยู่ในร่างกาย
  2. ระยะแสดงอาการ (Active TB) เป็นระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนเกิดอาการต่าง ๆ เช่น มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บเวลาหายใจหรือไอ อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น มีอาการเหงื่อออกในเวลากลางคืน น้ำหนักลด และความอยากอาหารลดลง ซึ่งโดยส่วนใหญ่วัณโรคจะแสดงอาการที่ปอด จึงเรียกว่า วัณโรคปอด แต่เชื้อสามารถกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ในร่างกายได้และทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น วัณโรคกระดูก วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น



สาเหตุของวัณโรค

           เกิดจากการติดเชื้อไมโครแบคทีเรียม ทูเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) ที่สามารถแพร่กระจายผ่านทางอากาศ  โดยผู้ที่เคยพักอาศัยหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น รวมไปถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือสุขภาพไม่แข็งแรง



การรักษาวัณโรค 

          รักษาได้โดยการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่กับการดูแลสุขภาพ  แต่ยาที่ใช้รักษาวัณโรคมีผลข้างเคียงมาก ดังนั้นทั้งผู้ป่วยและแพทย์ต้องร่วมมือกันสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด



ผลข้างเคียงจากยาที่อาจเกิดขึ้น เช่น

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ความยากอาหารลดลง
  • หายใจลำบาก
  • มีไข้ติดต่อกันหลายวันอย่างโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการบวมบริเวณใบหน้าและลำคอ 
  • มีปัญหาการมองเห็น
  • ผิวซีดเหลือง
  • มีปัสสาวะสีเข้มขึ้นผิดปกติ
     ***โดยเมื่อมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที



ภาวะแทรกซ้อนของวัณโรค

          ภาวะแทรกซ้อนที่มักพบในผู้ป่วยวัณโรค ได้แก่ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด, ภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด, ถุงลมปอดโป่งพอง, ฝีในปอด, ไอเป็นเลือด และเชื้อวัณโรคยังสามารถแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดหรือระบบน้ำเหลืองไปทั่วร่างกาย จนกลายเป็นโรควัณโรคของอวัยวะต่าง ๆ (อาจพบร่วมกับวัณโรคที่ปอดหรือไม่ก็ได้) เช่น

  • วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง ทำให้มีอาการไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง คอแข็ง ซึม ชัก
  • วัณโรคต่อมน้ำเหลือง พบบ่อยที่ข้างคอ มีลักษณะเป็นก่อนบวมที่ข้างคอ นุ่ม ไม่มีอาการเจ็บปวด และอาจแตกมีหนองไหลเรื้อรัง
  • วัณโรคกล่องเสียง ทำให้มีอาการเสียงแหบเรื้อรัง
  • วัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ ทำให้มีอาการไข้ คอบวม หายใจหอบเหนื่อย
  • วัณโรคลำไส้ ทำให้มีอาการปวดท้องและท้องเสียเรื้อรัง น้ำหนักตัวลดลง อาจคลำได้ก้อนในท้อง ถ้าลุกลามไปที่เยื่อบุช่องท้องทำให้เกิดอาการท้องมาน
  • วัณโรคไต ทำให้กรวยไตอักเสบเรื้อรัง ตรวจพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะให้ยาปฏิชีวนะหลายชนิดแล้วก็ไม่หาย
  • วัณโรคกระดูก เช่น วัณโรคกระดูกสันหลัง (ทำให้มีอาการปวดหลังเรื้อรัง หลังคดโก่ง กดเจ็บ อาจมีอาการเสียงแหบเรื้อรัง), วัณโรคข้อเข่า (ทำให้มีอาการปวดข้อบวมแดงร้อน)




การป้องกันวัณโรค

  1. ดูแลสุขภาพออกกำลังกายให้แข็งแรง
  2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  3. ตรวจการทำงานของปอด
  4. ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อคัดกรองโรค โดยเฉพาะผู้สัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิด บุคลากรทางการแพทย์
  5. เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค
  6. หากมีอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นวัณโรค ควรรีบไปพบแพทย์


          แม้ว่าอาการของวัณโรคจะรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่วัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ โดยการรับประทานยาให้ต่อเนื่อง ดูแลสุขภาพให้ดี หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย และรีบไปพบแพทย์ทันทีหากพบความผิดปกติ  ซึ่งอยู่สุข เนอร์สซิ่งโฮม มีพยาบาลคอยดูแลตลอด 24 ชม. รวมถึงมีทีมแพทย์เฉพาะทางคอยให้คำปรึกษา สนใจติดต่อ โทร 099-4414690 , 086-9558889

           ปรึกษาปัญหาผู้สูงอายุ สอบถามบริการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (เบอร์ 099-441-4690086-955-8889) หรือ ติดต่อเรา 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้