Last updated: 4 ธ.ค. 2562 | 1534 จำนวนผู้เข้าชม |
เรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ เรียกได้ว่าไม่เข้าใครออกใครจริงๆ พอจะเจ็บป่วยขึ้นมา บางทีก็ไม่ได้มีสัญญาณบอกล่วงหน้า เกิดจะเป็นปุปปับก็เป็นกันได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ที่ร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพตามวัย เมื่อภูมิคุ้มกันลดลง โอกาสที่จะป่วยกะทันหัน โดยไม่ทันตั้งตัวก็มีให้เห็นกันมาก อย่างเช่นพวก โรคอัมพาต โรคกระดูก และสารพัดโรคที่อาจตามมาได้ จนอาการทรุดตัวลง
แล้วถ้าหากรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว ต้องมารักษาตัวต่อที่บ้านล่ะ เราจะมีวิธีดูแลผู้ป่วยสูงอายุอย่างไร ในบทความนี้ เราจะมาแนะนำ การเตรียมตัวดูแลผู้ป่วยสูงอายุ ที่ป่วยแบบกะทันหันกัน
1. อาหาร เมื่อผู้สูงอายุป่วย แน่นอนว่า การกินต้องมีการปรับตัวใหม่ หากแพทย์วินิจฉัยโรคแล้ว อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงเมนูอาหารให้ตรงตามโภชนาการมากยิ่งขึ้น เพราะเงื่อนไขของโรคต่างๆ ในแต่ละคน ส่งผลต่อการจัดอาหารที่แตกต่างกันด้วย ควรเลือกอาหารที่ให้พลังงานพอเหมาะ แต่มีสารอาหารเยอะ เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย กลืนง่าย และอาหารต้องมีความอ่อนนุ่ม อย่าให้ผู้ป่วยสูงอายุต้องออกแรงเคี้ยวมากไป อาหารต้องสะอาด รสชาติไม่จัดจ้าน เพิ่มกลิ่นเครื่องเทศและสมุนไพร สีสันให้มีกลิ่นหอมน่าทาน เพราะผู้สูงอายุเบื่ออาหารง่าย ต้องเปลี่ยนบ่อยๆในหลายมื้อ
เน้นทานเป็นข้าวกล้อง ผักต้มสุก ผลไม้หั่นชิ้นเล็กให้เคี้ยวง่ายขึ้น ลดน้ำมัน แป้ง เกลือในอาหารที่ส่งผลต่อโรคของผู้ป่วย สำหรับเรื่องอาหารควรปรึกษาแพทย์เพื่อจะได้จัดเมนูอาหารที่ถูกหลักอนามัย และโภชนาการที่ดีต่อผู้ป่วยสูงอายุคนนั้นๆ
2. การดูแลทั่วไป ต้องเริ่มจากจัดการหาอุปกรณ์ที่สะดวกสบาย ง่ายต่อการใช้งานกับผู้ป่วยสูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเตียงนอนที่สูงพอดี ปรับเอนสูงต่ำได้ เพื่อให้นอนสะดวก มีรถเข็นเตรียมไว้ให้ แพมเพิร์สผู้สูงอายุก็ต้องเตรียมไว้จำนวนมาก เพราะหากเป็นผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เราก็ต้องคอยเปลี่ยนผ้าอ้อมใหม่ให้บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขับถ่ายที่ควบคุมไม่ได้ อุปกรณ์ในห้องทั้งกระโถน กะลามัง ผ้าเช็ตตัวผู้ป่วย ควรเตรียมไว้ในยามฉุกเฉิน หยิบจับได้สะดวก
3. เสื้อผ้า ต้องเป็นเสื้อผ้าที่ค่อนข้างโปร่ง เนื้อผ้าฝ้าย เพื่อช่วยลดการอับชื้นที่บริเวณหลัง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันแผลกดทับ กรณีผู้สูงอายุนอนเป็นเวลานาน ต้องไม่ใช้เสื้อผ้าใยสังเคราะห์ที่ทำให้ร้อน ไม่ควรเป็นเสื้อยืดสวมหัวซึ่งถอดลำบาก ควรเป็นเสื้อแบบผ่ากลางตัว จะช่วยให้ถอดง่าย และสามารถเปลี่ยนจากกระดุมเป็นตีนตุ๊กแก หรือกระดุมแป๊กที่เกาะออกง่าย ส่วนกางเกงผู้ป่วยสามารถใช้ได้ทั้งขาสั้นและขายาว แต่ไม่ต้องยาวมาก ควรเป็นการเกงแบบสวม มากกว่าตะขอ เพื่อการสวมใส่ที่ง่ายกว่า สีเสื้อควรเป็นโทนสว่าง อบอุ่น สบายตา ที่สำคัญลูกหลานควรหมั่นพลิกตัวผู้สูงวัยทุกๆ 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับด้วย
4. ยารักษาโรค อันนี้ต้องเตรียมไว้ตามแพทย์สั่งจ่าย ในโรคของผู้ป่วยสูงอายุนั้นๆ แต่ต้องจัดยาไว้ให้ผู้ป่วยทานก่อน หรือ หลังอาหารให้ดี ศึกษาตัวยาว่าใช้บำรุงรักษาอะไรบ้าง และใช้ตอนไหน เพื่อจะได้เตรียมยาไว้ให้ถูก ส่วนยาสามัญประจำบ้านทั่วไป ควรมีเตรียมไว้เลย ทั้ง ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาดม ยาหม่อง ยาแก้ปวดท้อง รวมถึงพวกยาทาแก้ปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นต้น
5. สภาพแวดล้อมในบ้าน ควรมีการปรับปรุงห้องนอนผู้สูงอายุให้โปร่ง โล่งสบาย อากาศถ่ายเทสะดวก เป็นไปได้ควรย้ายมาอยู่ชั้นล่าง เพื่อสะดวกต่อการดูแล ไม่ต้องพาขึ้นลงชั้นบนให้เหนื่อย หรือ หากจำเป็นอยู่ห้องชั้นบนจริงๆ ควรมีลิฟท์บันได ในการย้ายผู้สูงอายุ ส่วนห้องอื่นๆ ควรมีราวจับช่วยพยุง และพื้นห้องที่ไม่ลื่น สิ่งจำเป็นเลยคือ ควรมีสวนสวน มุมพักผ่อนธรรมชาติให้ผู้สูงอายุผ่อนคลาย
6. เตรียมจิตใจผู้ดูแล หากลูกหลาน ญาติพี่น้อง ที่อยู่กับผู้สูงอายุ เริ่มรู้ตัวแล้วว่า จะต้องดูแลผู้ป่วย และอยากดูแลด้วยตัวเอง ก็ต้องเริ่มเตรียมสภาพจิตใจ ต้องรับให้ได้ เพราะการดูแลผู้สูงอายุนั้น มีรายละเอียดเยอะ อาจทำให้ผู้ดูแลเกิดภาวะเครียด รู้สึกเป็นภาระได้ เนื่องจากไม่มีเวลาส่วนตัว ต้องพะวงในการดูแลตลอด ตรงนี้ต้องปรับทัศนคติแง่บวกมากพอสมควร
ทั้งหมดนี้เป็นการเตรียมตัวเบื้องต้น เมื่อต้องดูแลผุ้ป่วยสูงอายุแบบปุปปับ แต่หากใครรู้สึกว่า ไม่มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุเท่าที่ควร เนื่องด้วยเวลาที่จำกัด และอาจทำงานประจำ ลองเลือกใช้บริการ Nursing Home หรือ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ทางเลือกที่สบายใจกว่า ดูแลใกล้ชิดเหมือนอยู่บ้าน ปลอดภัยมาตรฐานโรงพยาบาล เจ็บป่วยฉุกเฉินดูแลรักษาให้ได้ทันที
ปรึกษาปัญหาผู้สูงอายุ สอบถามบริการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (เบอร์ 099-441-4690, 086-955-8889) หรือ ติดต่อเรา
30 ก.ย. 2562
30 ก.ย. 2562
30 ก.ย. 2562
11 ธ.ค. 2562