อุปกรณ์สำหรับดูแลผู้สูงอายุ

Last updated: 10 ธ.ค. 2562  |  14363 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อุปกรณ์สำหรับดูแลผู้สูงอายุ

อุปกรณ์สำหรับดูแลผู้สูงอายุ 

 



       การเข้าสู่วัยผู้สูงอายุจะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เสื่อมถอยลง ส่งผลให้มีความบกพร่องให้ด้านต่างๆ เช่น การทรงตัว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกลดลง  ซึ่งอาจทำให้มีการจำกัดหรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขณะการทำกิจกรรมต่างๆหรือแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวร่างกาย อาทิเช่น การลุกขึ้นนั่ง การยืน การเดิน หรือการขึ้นลงบันได  ดังนั้นจึงมีอุปกรณ์เสริมขึ้นมา เพื่อช่วยลดโอกาสในการเกิดเหตุไม่คาดฝันและลดการจำกัดการทำกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมต่างๆ ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น

  1. เตียงผู้ป่วย หรือเตียงนอนติดราวจับเพื่อช่วยพยุงตัว
  2. ไม้เท้าสี่ขาสำหรับช่วยเดิน
  3. รถเข็นผู้ป่วย
  4. เก้าอี้นั่งอาบน้ำ
  5. หมอนช่วยพลิกตัว
  6. ที่นอนลม (ป้องกันแผลกดทับ)
  7. ราวจับที่ติดตั้งตามบริเวณบ้าน
  8. เข็มขัดพยุงตัว
  9. ราวจับสำหรับขึ้น - ลง อ่างอาบน้ำ (หายากในไทย)
  10. เครื่องยกผู้ป่วยขึ้น -ลง อ่างอาบน้ำ (หายากในไทย)
  11. แผ่นกันลื่นสำหรับปูในห้องน้ำ
  12. กระบอกใส่ปัสสาวะสำหรับผู้ชายและผู้หญิง
  13. กระโถนสำหรับผู้ป่วย

อุปกรณ์ช่วยเดิน

          ควรเลือกให้เหมาะสมกับร่างกายและจุดประสงค์ในการใช้


  1. ไม้เท้า – ผู้สูงอายุบางคนอาจต่อต้านการใช้ไม้เท้า ทั้งที่ไม้เท้าเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายสะดวกขึ้น
  2. ไม้เท้ารูปตัวที – เหมาะกับคนที่เดินได้เป็นปกติ เป็นไม้เท้าแบบมาตรฐานมีแบบพับเก็บสำหรับผู้พิการแขนด้วย
  3. ไม้เท้า 3 ขา/ 4 ขา – เหมาะกับคนที่เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมหรือข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นไม้เท้าที่มีขาตั้งแยกเป็น 3 – 4 ขา ขนาดเล็ก จึงมีความมั่นคงยิ่งขึ้น เหมาะใช้บนพื้นราบเท่านั้น
  4. ไม้เท้าค้ำศอก – เหมาะกับผู้ป่วยขาตั้ง ขาแพลง ข้อสะโพกเสื่อม หรือเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง มีมือจับและค้ำศอกเพื่อรับน้ำหนักตัว หากไม่มีการทรงตัวมากพอ จะจับไม้เท้าให้แน่นแล้วใช้แขนช่วยพยุงได้
  5. ไม้เท้ายันรักแร้ - เหมาะกับคนขาหัก ขาแพลง หรือเป็นอัมพาตแบบครึ่งท่อนล่าง เป็นไม้เท้าที่ค้ำใต้รักแร้ต้องใช้เป็นคู่ รับน้ำหนักได้มาก
  6. ไม้เท้าหัดเดิน - เหมาะกับคนเป็นอัมพาตครึ่งซีก โรครูมาตอยด์ และข้อสะโพกเสื่อม ไม้เท้าแบบ 4 ขา คล้ายขาของเก้าอี้ มีมือจับ 2 ตำแหน่ง ใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยเดินหรือยืน


วิธีเลือกไม้เท้าที่เหมาะกับตัวเอง

          การเลือกไม้เท้าที่ไม่เหมาะกับตัวเองจะทำให้เหนื่อยกว่าเดิม แถมยังทำให้หกล้มได้ หากใช้ไม้เท้ารูปตัวที ควรเลือกให้มีความสูง ระดับสะโพก (ราว 124 ซม.) ส่วนไม้ค้ำรักแร้สูงน้อยกว่าความสูงตัวเอง 40 ซม.


รถเข็นช่วยเดินและรถเข็นช่วยเดินแบบนั่งได้

        จะใช้เมื่อไม่มีแรงพอที่จะเดินเองได้และใช้ไม้เท้าไม่สะดวก ต้องหันมาใช้รถเข็นช่วยเดิน เหมาะกับคนที่เดินได้เอง

  1. รถเข็นช่วยเดินแบบมีล้อ - เหมาะกับคนที่อ่อนแรง วางแขนไว้บนคานเพื่อประคองร่างกาย ใช้หัดเดินหรือทำกายภาพบำบัด เมื่อออกจากโรงพยาบาล
  2. รถเข็นช่วยเดินแบบไม่มีล้อ – เหมาะกับคนที่แขนพอยกได้ยกพอไหวแต่ใช้ไม้เท้าลำบาก ต้องใช้สองมือยกรถเข็นวางไว้ข้างหน้า เพื่อพยุงตัวให้เดินตามไปทีละก้าว
  3. รถเข็นช่วยเดินแบบนั่งได้ – เหมาะกับคนที่ยังเดินได้ โดยไม่ใช้ไม้เท้า รถเข็นช่วยเดินชนิดนี้มีที่สำหรับใส่ของและนั่งพักได้
  4. รถเข็นช่วยเดินแบบนั่งได้ เหมาะกับคนที่เดินไม่ได้โดยไม่ใช้ไม้เท้า รถเข็น 4 ล้อ มีตะกร้าใส่ของอยู่ข้างล่างพร้อมเป็นเก้าอี้นั่งพักได้

วิธีการเลือกเตียงนอนสำหรับผู้สูงอายุ

  1. เลือกเตียงกว้างๆ และติดราวจับเพิ่มได้  
  2. ราวจับสำหรับช่วยลุกจากเตียง การลุกจากเตียงไปยังรถเข็นหรือเก้าอี้ เพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวันจะง่ายขึ้นเมื่อมีราวจับข้างเตียง หากผู้สูงอายุยังช่วยเหลือตัวเองได้ดี ก็ไม่จำเป็นต้องติดตั้งราวจับทันที แต่ให้ใช้ในกรณีที่ผู้สูงอายุลุกจากเตียงได้ยาก  ซึ่งการใช้ชีวิตประจำวันจะง่ายขึ้นเมื่อมีราวจับข้างเตียง
  3. เตียงควรมีช่องว่าง  เพื่อให้มีพื้นที่ว่างพอให้สอดเท้าเข้าไป ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับผู้สูงอายุ เพราะหากเกิดรู้สึกวิงเวียนเมื่อลุกจากเตียงทันที จะได้มีพื้นที่พอสำหรับทรงตัวและช่วยไม่ให้ล้มได้
  4. ความกว้างของเตียง ควรกว้างพอให้ผู้สูงอายุสามารถพลิกตัว ลุกขึ้นนั่งในอิริยาบถต่างๆ ได้อย่างสะดวก จึงควรเลือกซื้อเตียงที่มีความกว้างประมาณ 1 เมตร
  5. ลักษณะของฟูกนอน  ไม่ควรใช้ฟูกที่นุ่มเกินไป จะทำให้ลำตัวจมลงไป เวลาจะลุกขึ้นหรือขยับตัวจะทำได้ยาก จึงควรเลือกฟูกนอนที่ค่อนข้างแข็งและหนา ประมาณ 5-6 เซนติเมตร
  6. ความสูงของเตียง หากเตียงสูงเกินไป เวลาลุกนั่งบนเตียง ขาไม่ถึงพื้น อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจนบาดเจ็บได้ แต่ถ้าเตียงเตี้ยเกินไป ผู้ดูแลต้องคอยปรับเตียงให้ขาของผู้สูงอายุวางบนพื้นพอดี พร้อมสำหรับจะลุกยืน
  7. การเลือกใช้เตียงหรือฟูกนอน ควรพิจารณาจากสภาพร่างกายของผู้สูงอายุเป็นหลัก หากลุกยากหรือจำเป็นต้องใช้รถเข็น เตียงนอนจะสะดวกและปลอดภัยกว่า แต่ถ้าร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดีและต้องการนอนฟูกกับพื้นก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเตียงนอน เพราะสิ่งสำคัญคือการเยียวยาร่างกายให้มีสภาพเหมือนเดิมที่สุดไปพร้อมกับการดูแลสภาพจิตใจ


อุปกรณ์ป้องกันแผลกดทับ

  1. เบาะเจลป้องกันแผลกดทับ
              เ
    หมาะสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือผู้พิการ ใช้สำหรับรองนอนหรือนั่ง เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ เพราะเบาะเจลป้องกันแผลกดทับมีความอ่อนนุ่ม ไม่ระคายผิว ให้สัมผัสเย็น และสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 300 กิโลกรัม

  2. ที่นอนสำหรับผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ
              แผลกดทับเป็นสิ่งที่ป้องกันหรือลดความรุนแรงลงได้ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี  นับตั้งแต่การดูแลพลิกตะแคงตัว เปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง การจัดท่านอนที่เหมาะสม การดูแลผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ การดูแลให้อาหารผู้ป่วยอย่างเพียงพอ และการใช้อุปกรณ์ที่ช่วยลดแรงกดทับ

              ที่นอนลมแบบไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยลดแรงกดและกระจายแรงกดทับ โดยใช้แรงปั๊มลมจากเครื่องปั๊มไฟฟ้า ปั๊มทำงานแบบสลับการยุบพองของที่นอนลมต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและอัตโนมัติเป็นจังหวะ ทำให้ร่างกายไม่ถูกกดทับบริเวณใดบริเวณหนึ่งนานๆ จึงช่วยลดโอกาสการเกิดหรือช่วยลดความรุนแรงของแผลกดทับได้ โดยทั่วไปที่นอนลมแบบไฟฟ้าจะมีอยู่ 2 ชนิดคือ
       1. ที่นอนลมแบบรังผึ้ง หรือบับเบิ้ล( Bubble ) เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผลกดทับแล้ว เพราะเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย และมีความสามารถในการรับน้ำหนัก  อีกทั้งยังสามารถปรับความดันเบาะได้ง่ายด้วยปุ่มปรับความดันบนเครื่องปั๊มลม
       2 .ที่นอนลมแบบลอนขวาง เหมาะสำหรับผู้ป่วยอัมพาต อัมพฤกษ์  ผู้สูงอายุ จะทำงานช่วยลดแรงกดทับและกระจายแรงกดทับไปทั่วร่างกาย ลดแรงเสียดสีระหว่างที่นอนและผิวของผู้ป่วยด้วยระบบสลับการพองของลอนที่นอน
     

          ในการเลือกอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุต้องเลือกให้มีความเหมาะสมกับภาวะโรค ความบกพร่อง และรูปร่างของผู้สูงอายุที่จะใช้อุปกรณ์นั้นๆ จึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอความแนะนำ สำหรับท่านใดที่ต้องการคำแนะนำหรือข้อมูลเพิ่มเติม สามารถมาติดต่อได้ที่ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุุอยู่สุข เนอร์สซิ่งโฮม โทร 099-4414690 เรายินดีให้บริการทุกท่าน

 ปรึกษาปัญหาผู้สูงอายุ สอบถามบริการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (เบอร์ 099-441-4690086-955-8889) หรือ ติดต่อเรา 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้