
ในปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้นทุกปี และพบว่า 60-70% ของผู้ป่วยโรคหัวใจจะมีภาวะหัวใจวายเฉียบพลันและถึงแก่ชีวิต โดยที่ไม่มีอาการนำมาก่อน
โรคหัวใจ คือโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ แบ่งย่อยได้เป็นหลายกลุ่มโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นต้น
การเกิดโรคหัวใจนั้นไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่พัฒนาไปสู่โรคหัวใจได้ โดยปัจจัยเสี่ยงจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้
- ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ประกอบด้วย พันธุกรรม(คนในครอบครัวเคยเป็นโรคหัวใจ), อายุ(อายุมากยิ่งมีความเสี่ยงมาก), เพศ(เพศชายมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าเพศหญิงในวัยก่อนหมดประจำเดือน)
- ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ ประกอบด้วย การสูบบุหรี่, ภาวะความดันโลหิตสูง, คลอเลสเตอรอลสูง, โรคเบาหวาน และ บุคคลที่มีพฤติกรรมนั่งๆนอนๆ(sedentary lifestyle)
อาการของโรคหัวใจ อาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มโรค- โรคหลอดเลือดหัวใจ มักส่งผลให้มีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก ร้าวไปตามกราม แขน ลำคอ ท้อง หรือบริเวณหลัง และบางครั้งอาจมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือหมดสติได้
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ อาจเต้นเร็วผิดปกติ ช้าผิดปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้รู้สึกใจสั่น แต่บางครั้งอาจแสดงอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หรือคล้ายจะเป็นลมได้เช่นกัน
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจ ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มักมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม และมีอาการมากขึ้นเมื่อต้องออกแรงหนัก ๆ ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจที่รุนแรงมากขึ้นจะทำให้มีอาการเหนื่อยแม้ขณะนั่งอยู่เฉย ๆ มีอาการบวมตามแขน ขา หนังตา ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ และตื่นขึ้นมาไอในเวลากลางคืน
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา โดยอาจแสดงอาการทันทีเมื่อแรกคลอด หรือแสดงอาการมากขึ้นในภายหลังก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือกลุ่มที่มีอาการเขียวและกลุ่มไม่มีอาการเขียว ในกลุ่มที่มีอาการยังไม่รุนแรงมากอาจสังเกตได้ในภายหลัง เช่น เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน แต่ในกลุ่มที่มีอาการมากจะทำให้เลี้ยงไม่โต ทารกมีอาการเหนื่อยขณะให้นมหรือติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย ๆ เป็นต้น
- โรคลิ้นหัวใจ อาการของโรคขึ้นอยู่กับความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เกิดขึ้น ในกลุ่มที่มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจได้ยินเสียงผิดปกติจากการตรวจร่างกายเท่านั้น แต่หากมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจมากก็จะมีอาการเหนื่อยง่าย และเกิดภาวะหัวใจวายหรือน้ำท่วมปอดได้
- โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ อาการที่แสดงถึงโรคนี้ ได้แก่ มีไข้ โดยมักจะเป็นไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย ไอเรื้อรังแห้ง ๆ ขาหรือช่องท้องบวม รวมถึงมีผื่นหรือจุดขึ้นตามผิวหนัง
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจ
- ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย พบได้บ่อยที่สุด โดยเกิดขึ้นได้จากโรคหัวใจทุกชนิด
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จากการที่ลิ่มเลือดมาปิดกั้นการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เสียชีวิตได้
- โรคหลอดเลือดในสมองขาดเลือด อาจส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตหรืออาการอื่นๆที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ทำให้เจ็บขาขณะเดิน หากตีบมากอาจทำให้ขามีสีคล้ำขึ้นได้
- โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง หากบริเวณที่โป่งพองนี้แตกออกอาจทำให้เลือดออกภายในและอันตรายต่อชีวิตได้
การป้องกันโรคหัวใจ
การป้องกันโรคหัวใจด้วยตนเองทำได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจร่างกายเพื่อควบคุมระดับความดันและไขมันในเลือดเป็นประจำ การรับประทานอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรเน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช ลดปริมาณไขมัน โซเดียม และน้ำตาลให้น้อย หมั่นออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก หยุดสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ความเศร้าและความเครียดก็อาจเป็นปัจจัยการเกิดโรคหัวใจได้ จึงควรพยายามผ่อนคลายให้มาก รวมทั้งรักษาสุขอนามัยให้ถูกต้องอยู่เสมอเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ
การเลือกรับประทานอาหาร การบริโภคอาหารให้เหมาะสมจะช่วยลดการลุกลามของโรคได้ โดยมีวิธีการเลือกดังต่อไปนี้- จำกัดอาหารที่มีไขมันและคลอเลสเตอรอลสูง เช่น เนย มาการีน ครีม และเลือกประกอบอาหารโดยใช้น้ำมันพืชที่มีไขมันไม่อิ่มตัวแทน เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น
- เลือกรับประทานอาหารประเภทโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น อกไก่ ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมพร่องมันเนย และควรงดเครื่องในสัตว์ ไข่แดง
- รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะผักและผลไม้สด
- เลือกรับประทานข้าวหรือผลิตภัณฑ์ไม่ขัดสี เช่น ขนมปังโฮลวีท ข้าวโอ๊ต ข้าวซ้อมมือ
- บริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับการใช้พลังงานในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจตามมา

การออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจ- ก่อนออกกำลังกายควรอบอุ่นร่างกายทุกครั้ง เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อและหัวใจให้พร้อมสำหรับการออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ดังนั้นการอบอุ่นร่างกายที่เหมาะสมจะช่วยลดภาระการทำงานของหัวใจ
- เลือกชนิดของการออกกำลังกายตามความชอบและความสะดวก สามารถเลือกออกกำลังกายประมาณ 15 นาทีขึ้นไปในช่วงแรก หากมีข้อจำกัดสามารถปรับโปรแกรมการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายได้
- หลังการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เมื่อจะหยุดออกกำลังกาย ควรมีช่วงผ่อนคลายร่างกายเล็กน้อย (ทำเช่นเดียวกับการอบอุ่นร่างกาย) เพราะขณะออกกำลังกายหัวใจจะทำงานหนักเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ ขณะเดียวกันกล้ามเนื้อก็จะส่งเลือดกลับมายังหัวใจ การหยุดออกกำลังกายทันทีจะส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือด เลือดอาจเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอันตรายรุนแรงหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ควรออกกำลังกายหลังจากรับประทานอาหารมื้อหลักประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้หัวใจทำงานหนักเกินไป
- อย่ากลั้นหายใจขณะอบอุ่นร่างกายหรือออกกำลังกาย ให้หายใจเข้า-ออกตามปกติ หากกังวลเรื่องจังหวะการหายใจเข้าออก ให้ออกเสียงนับไปด้วย จะช่วยป้องกันการกลั้นหายใจได้
- ควรมีผู้ดูแลให้การดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อคอยดูแลความปลอดภัย
ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย ปัจจัยเสียงของการออกกำลังกาย คือ ปัจจัยที่อาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตขณะหรือหลังการออกกำลังกาย พบว่าปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่- อายุ คนที่มีอายุมากมักจะมีภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และอาจจะมีโรคหัวใจอยู่โดยที่ไม่เกิดอาการ เมื่อออกกำลังกายอาจจะทำให้เกิดอาการหัวใจวาย ดังนั้นผู้สูงอายุหากจะออกกำลังกายต้องได้รับการประเมินจากแพทย์
- ผู้ที่มีโรคหัวใจอยู่ก่อน พบว่าผู้ที่มีโรคหัวใจจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากออกกำลังกายหนัก เช่น การจ๊อกกิ่ง ดังนั้นผู้สูงอายุและมีโรคหัวใจต้องประเมินโดยแพทย์ก่อนออกกำลังกาย เพื่อกำหนดความหนัก ชนิดของการออกกำลังกาย หากมีการเฝ้าติดตามการเต้นของหัวใจโดยแพทย์จะทำให้เกิดความปลอดภัยสูงขึ้น
- คนที่มีโรคหัวใจต้องมีการอบอุ่นร่างกายนานกว่าคนทั่วไป แนะนำให้ใช้เวลา 10-15 นาทีในการอบอุ่นร่างกายแต่ละครั้ง
- ความถี่ของการออกกำลังกายไม่ต้องถี่มากเหมือนคนปกติ แนะนำให้ออกกำลังกาย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ หากผู้ป่วยเพลียก็ให้พักหนึ่งวันหลังการออกกำลังกาย
- ความหนักของการออกกำลังกาย ให้พิจารณาเป็นรายบุคคล เพราะสภาพโรคหัวใจที่ต่างกัน ความรุนแรงต่างกัน การกำหนดความแรงของการออกกำลังกายแพทย์จะเป็นผู้กำหนด โดยมีการทดสอบทั้งก่อน ขณะหรือหลังการออกกำลังกาย เพื่อหาความเหมาะสม ความแรงของการออกเริ่มตั้งแต่ 50-80% ของอัตราการเต้นหัวใจเป้าหมาย
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคหัวใจควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเนื่องจากสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ง่าย อีกทั้งการรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหัวใจนั้นเน้นในเรื่องของการออกกำลังกาย ซึ่งจะมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นหากออกกำลังกายภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัด และที่สำคัญที่สุดคือการพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการ ทางศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ อยู่สุข เนอส์ซิ่งโฮม เรามีแพทย์เฉพาะทางทางด้านอายุรกรรม คอยดูแลและให้คำปรึกษา และมี นักกายภาพบำบัด คอยให้คำแนะนำในด้านการฟื้นฟูร่างกาย สำหรับท่านที่สนใจ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ อยู่สุข เนอร์สซิ่งโฮม โทร 099-4414690 ยินดีให้บริการค่ะ






ปรึกษาปัญหาผู้สูงอายุ สอบถามบริการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (เบอร์ 099-441-4690, 086-955-8889) หรือ ติดต่อเรา




