4 เทคนิคผู้สูงวัย ใช้ชีวิตอย่างไรให้ห่างไกลโรค

Last updated: 24 ต.ค. 2565  |  253 จำนวนผู้เข้าชม  | 

4 เทคนิคผู้สูงวัย ใช้ชีวิตอย่างไรให้ห่างไกลโรค

วารสารยา: คอลัมน์ยาใจ 

โดย พท.ว.ภ.อุไรศรี เอกเศวตอนันต์ (หมอแดง แพทย์แผนไทย)

..

4 เทคนิคผู้สูงวัย ใช้ชีวิตอย่างไรให้ห่างไกลโรค

คนในวัย 30 ปีขึ้นไป ในทางแพทย์แผนไทยเราเรียก “ปัจฉิมวัย” ค่ะ วัยนี้มีโรคประจำวัยคือ “โรคทางวาตะ” หรือกลุ่มอาการทางลม ทั้ง โรคลมกองหยาบ คือลมในช่องท้อง เช่น ท้องอืดแน่นเฟ้อ เรอ อาการทางระบบย่อย ท้องผูก ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน กษัยเสียดให้ปวดหลัง ขัดแข้งขัดขา และ โรคลมกองละเอียด คือลมที่แล่นในหลอดเลือดขนาดเล็ก เช่น ลมให้วิงเวียน มึนงง หูอื้อ ตาลาย เหน็บชา ตะคริว โรคเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือด 

ดังนั้น นอกจากการรู้จักเข้าใจโรคในวัยของตัวเองและหาหยูกยาติดบ้านเพื่อบรรเทาอาการในยามต้องใช้แล้ว การดูแลตัวเองให้อาการไม่กำเริบถือเป็นเรื่องจำเป็น เรียกว่า การใช้ชีวิตในเชิงป้องกัน 

แดงสรุปเป็นเทคนิค 4 ข้อ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในเชิงป้องกันและไม่ต้องพึ่งยาบ่อยเกินไปในระยะยาว นำมาแบ่งปันกันนะคะ


4 เทคนิค ใช้ชีวิตอย่างไรให้ห่างไกลโรคทางลม 

ลมนั้นไหลเวียนทั่วร่างกาย ธรรมชาติของลมคือต้องเบา สบาย มีช่องว่างให้ลมเคลื่อน มีอุณหภูมิที่พอเหมาะให้กำลังลมเคลื่อนคงที่ ไม่แล่นแรง ไม่แล่นแผ่วเบา ไม่อั้น จนเสียสมดุลและผุดเป็นอาการตามจุดต่างๆ 

มี 4 จุดสำคัญที่ลมไหลเวียนผ่าน ถ้าดูแลให้ดี เราจะห่างไกลโรคทางลม ได้แก่ ลมในช่องท้อง ลมในเส้น ลมหายใจเข้าออก และลมในอารมณ์


1. ลมในท้อง 

ทำไมท้องถึงสำคัญ เพราะท้องอยู่กลางลำตัว เป็นตำแหน่งแรกของการแปรสภาพจากอาหารในรูปธาตุดินที่เรากินเข้าไป ให้กลายเป็นอุทริยังหรือสารอาหารในระบบโลหิตตัง ก่อนแจกจ่ายไปทั่วร่างกายผ่านเส้นประธานทั้งสิบที่อยู่โดยรอบสะดือ 

คนที่มีอาการปลายในหลายระบบ เมื่อได้ซักประวัติในเชิงลึก เกินครึ่งมาจากระบบย่อยที่ไม่ดี มีอาหารเก่าตกค้างจนเกิดลมในท้อง (ปัจจุบันเรียกแก๊ส) อยู่เนืองๆ มานาน เมื่อลมอั้นในช่องท้อง การไหลเวียนไปยังส่วนบน ส่วนล่าง และรยางค์ก็ติดขัด คนไข้จะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายเพราะอวัยวะต่างๆ ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ยังมีอาการทางลมอีกมากที่เนื่องมาจากลมอั้นในท้อง เช่น ลมลงล่างไม่ดีเกิดขาบวม ตะคริว ปัสสาวะไม่พุ่ง โรคโลหิตระดู หรือลมขึ้นบนกำเริบ เช่น ลมจุกคอ ลมเสียดหัวใจ หายใจไม่อิ่ม โคลงเคลง ไมเกรน ฯลฯ

กุญแจสำคัญของการมีสุขภาพดีคือระบบย่อยที่ดีค่ะ ถ้าเราดูแลให้การกินการย่อยทำได้สมบูรณ์ ก็จะไม่เหลืออาหารเก่าตกค้างให้เกิดเป็นลมในช่องท้อง เมื่อท้องนิ่ม ย่อยหมด ลมไหลเวียนดี เราจะสดชื่นและห่างไกลโรคทางลม 


2. ลมในเส้น

คือลมที่วิ่งในช่องว่างภายในร่างกาย ในทางแพทย์แผนไทยเราเรียก “นหารู” คนสมัยนี้อาการลมในเส้นติดขัดมาเร็ว กล่าวคือมีอาการปวดตึงรั้ง ออฟฟิศซินโดรม ลมเคลื่อนในเส้นไม่ดีเกิดพังผืด เมื่อช่องทางติดขัด ลมเคลื่อนไม่ได้เลือดก็ไม่เดิน หรือเดินก็เดินไปไม่ถึง เกิดอาการในระบบไหลเวียนตามมา เช่น ชา ตะคริว ขัดแข้งขัดขา เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เป็นต้น 

เหล่านี้มาจากพฤติกรรม “ติดที่” อยู่ในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานาน เช่น นั่งมากเกินไป นอนมากเกินไป ยืนมากเกินไป อาชีพบางอาชีพยังต้องเกร็งเฉพาะส่วน เช่น คุณหมอผ่าตัด หมอฟัน ช่างทำผม คนชงกาแฟ พนักงานออฟฟิศ พนักงานขับรถ ฯลฯ หรือผู้สูงวัยบางท่านไม่มีกิจกรรมในวัยเกษียณให้ได้ขยับตัว จึงนั่งและนอนมาก ดังนั้นขอเพียงเราเตือนตัวเองให้ขยับร่างกาย ออกกำลังกายเป็นประจำ ยืดเหยียดคลายกล้ามเนื้อสม่ำเสมอ ก็เท่ากับเรากำลังป้องกันโรคทางลมอยู่


3. ลมหายใจเข้าออก 

ลมหายใจคือลมแห่งชีวิต แต่ปัจจุบันเรากลับทำงานหรือมีกิจกรรมที่เพลิดเพลินจนลืมหายใจ หารู้ไม่ว่านั่นเป็นเหตุให้ลมที่ไหลเวียนในร่างกายติดขัด บางคนหายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย ไปจนถึงหัวใจเต้นผิดจังหวะเพราะการหายใจไม่ถูกต้อง แดงเคยทำคลิปไว้ในยูทูป “หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย เกิดจาก l EP.171” ลองเข้าไปฟังเพื่อสังเกตตัวเองได้นะคะ


4. ลมในอารมณ์

มูลเหตุสำคัญอย่างสุดท้ายที่ทำให้เกิดโรคทางลมก็คือ อารมณ์ ในทางแพทย์แผนไทยเรียก เหตุทางนาม 

“รูป” กับ “นาม” สัมพันธ์กัน กระทบกัน เป็นเหตุเนื่องของกันและกัน คนที่อารมณ์ไม่เสถียร ขึ้นๆลงๆหงุดหงิดง่าย โกรธเป็นนิจ เศร้าโศก วิตกกังวล หวาดกลัว เครียด อยู่ในโหมดพลังงานลบมากกว่าบวก ลมในร่างกายย่อมเสียสมดุล เกิดเป็นอาการไฟระส่ำให้ลมระส่าย ไม่ปกติสุข การหากิจกรรมเพื่อเพิ่มชีวาให้กับชีวิต รักษาระดับพลังงานให้เบิกบาน แบ่งเวลาทำจิตใจให้สงบ จะช่วยให้ห่างไกลโรคทางลมได้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้